โรคติดต่อ มีอะไรบ้าง รู้จักอาการโรคติดต่อสำคัญ
โรคติดต่อ ที่ควรรู้จัก
โรคติดต่อที่ยังพบในปัจจุบันมีอยู่หลายโรค แต่โรคติดต่ออะไรบ้างที่เราพบได้บ่อย และควรรู้จักไว้ มาดูกัน
อหิวาตกโรค (Cholera)
อหิวาตกโรค แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ อหิวาตกโรคชนิดแท้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ คอเลอเร ส่วน อหิวาตกโรค ชนิดเทียม เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เอลเทอร์ วิบริโอ ซึ่งอยู่ในอุจจาระหรืออาเจียนของผู้ป่วย และแพร่กระจายอยู่ในอาหารและน้ำดื่มได้ โดยมีแมลงวันเป็นตัวพาหะ
ผู้ป่วยอหิวาตกโรคอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการอย่างอ่อน เช่น ปวดท้อง ท้องเสียท้องร่วงวันละหลายครั้ง แต่ 1-2 วันก็หายเป็นปกติ หรือผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการรุนแรงมาก คือ ถ่ายอุจจาระเหลวคล้ายน้ำซาวข้าว มีกลิ่นคาว อาเจียน ซึ่งการถ่ายบ่อยทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ จนเกิดอาการอ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเบาลง และเสียชีวิตในที่สุด
การป้องกันอหิวาตกโรค ทำได้โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ร้อน ๆ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ดื่มและใช้น้ำที่สะอาด ทำลายขยะแหล่งแพร่เชื้อโรค และใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคดังกล่าวได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ อหิวาตกโรค โรคระบาดที่ยังอันตราย ชะล่าใจอาจเสียชีวิต
ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และติดต่อกันง่ายมาก ระบาดตลอดทั้งปี แต่มักเกิดในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ไข้หวัดใหญ่ อาการใกล้ตัวที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ย้ำให้ชัดว่าต้องระวัง
โรคตาแดง (Conjunctiva)
เป็นโรคติดต่อที่แพร่ระบาดได้เร็ว ผ่านการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยตาแดง และมักระบาดในช่วงหน้าฝน กับเด็ก ๆ ทั้งนี้โรคตาแดง ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ต้องรีบรักษา
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ โรคตาแดง วิธีรักษาโรคตาแดง
โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Meningitis)
เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลัน พื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของโรคสูงติดต่อกันหลายปี ได้แก่ แอฟริกากลางแถบทะเลทรายซาฮารา สามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย จากปาก จมูกของผู้ที่เป็นพาหะ (ผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการป่วยแสดงออกมา)
อาการของผู้เป็นไข้กาฬหลังแอ่นจะปวดศีรษะมาก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ คอแข็ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มักมีผื่นเลือดออกใต้ผิวหนังร่วมกับจ้ำเลือดขึ้นตามตัว แขนขา อาจมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ในรายที่เป็นรุนแรงผู้ป่วยจะซึม ชัก และช็อก เสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ การยืนยันการวินิจฉัยโรค ทำได้โดยการเจาะน้ำไขสันหลังส่งตรวจหาเชื้อ miningococci
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไข้กาฬหลังแอ่นได้ที่ ไข้กาฬหลังแอ่น เช็กอาการโรคติดต่ออันตราย อาจตายได้เฉียบพลัน
ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis)
โรคไข้สมองอักเสบ เกิดจากได้เชื้อไวรัสหลายชนิด แต่ในประเทศไทยมักพบจากเชื้อไวรัส Japanese encephalitis หรือเรียกว่า เจอี (JE) ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ อัตราการป่วยตาย อยู่ระหว่างร้อยละ 20-30 ผู้ป่วยส่วนใหญ่คือเด็ก อายุตั้งแต่ 5-10 ปี และพบโรคนี้ได้ชุกชุมในฤดูฝน ในประเทศไทยพบโรคนี้ในภาคเหนือมากกว่าภาคอื่น ๆ
ผู้ติดเชื้อไข้สมองอักเสบจะไม่แสดงอาการ โดยมีเพียง 1 ใน 300-500 คนเท่านั้นที่จะมีอาการ คือ เป็นไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ต่อไปอาการปวดศีรษะจะมากขึ้น อาเจียน ง่วงซึมจนไม่รู้สึกตัว บางรายอาจมีอาการเกร็งชักกระตุกด้วย อาจมีอาการหายใจไม่สม่ำเสมอ ในรายที่เป็นรุนแรงมากจะถึงแก่กรรมประมาณวันที่ 7-9 ของโรค ถ้าพ้นระยะนี้แล้วจะผ่านเข้าระยะฟื้นตัว ระยะเวลาของโรคทั้งหมดประมาณ 4-7 สัปดาห์
เมื่อหายแล้วประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยจะมีความพิการเหลืออยู่ เช่น อัมพาตแบบแข็งเกร็ง (spastic) ของแขนขา มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีสติปัญญาเสื่อม ปัจจุบัน โรคไข้สมองอักเสบ ยังรักษาไม่ได้ แต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน แล้วฉีดเพิ่มอีก 1 ครั้งหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ได้ 1 ปี ควรจะเริ่มให้วัคซีนนี้เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง พร้อมกับการให้ booster dose DTP และ OPV รวมทั้งหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด อันเป็นพาหะของโรค
ไข้เหลือง (Yellow fever)
ไข้เหลือง เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในทวีปแอฟริกา และอเมริกา มาตั้งแต่ 400 ปีก่อน คำว่า "เหลือง" มาจากอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน (Jaundice) ที่มักพบในผู้ป่วย และยังมีอาการไข้สูงร่วมกับชีพจรเต้นช้าผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปวดหลัง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เบื่ออาหาร ระยะต่อมาจะมีเลือดออกจากปาก จมูก ตา กระเพาะอาหาร ทำให้อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด จนถึงไตวาย มีโปรตีนปัสสาวะ (albuminuria) และปัสสาวะไม่ออก (anuria) ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยระยะโลหิตเป็นพิษจะเสียชีวิตภายใน 10-14 วัน ที่เหลือจะหายเป็นปกติโดยอวัยวะต่าง ๆ ไม่ถูกทำลาย
ไข้เหลือง มียุงลายเป็นพาหะของโรค และไม่มีการรักษาจำเพาะ เน้นการรักษาตามอาการ และฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค
ไข้รากสาดใหญ่ (Typhus)
หรือไข้ไทฟัส (Typhus) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มริคเกตเซีย โดยมีแมลงปรสิตเป็นพาหะ โรคไข้รากสาดใหญ่ มี 3 ชนิดคือ
1. ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด มักระบาดหลังสงครามหรือภัยพิบัติ จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีผื่นตามลำตัว แขนขา ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตตก ซึม ไวต่อแสงและเพ้อ ไข้สูง สามารถรักษาได้โดยให้ยาปฏิชีวนะ
2. ไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่น ติดต่อผ่านทางหมัดที่กัดหนู อาการปวดศีรษะ เป็นไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน รักษาให้หายได้ แต่ในผู้สูงอายุ หรือผู้มีภูมิคุ้มกันอาจเสียชีวิตได้
3. ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีไรอ่อนซึ่งพบมากตามป่าละเมาะเป็นพาหะ ภาษาญี่ปุ่นเรียก โรคสึสึกามูชิ
ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ จึงมักระบาดในประเทศเขตร้อนชื้น โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส หน้าแดง มีเลือดออกเป็นจุดตามตัว ตับโต อาจมีอาการปวดท้องและช็อกได้ จึงต้องรีบรักษาโดยเร็ว โดยการเฝ้าระวังภาวะช็อค และเลือดออก
การป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือ การกำจัดยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะไม่ให้ขยายพันธุ์ โดยหมั่นตรวจสอบแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่ยุงจะเพาะพันธุ์อยู่
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไข้เลือดได้ที่ โรคไข้เลือดออก อาการไข้เลือดออก เป็นอย่างไร คลิกเลย
คอตีบ (Diphtheria)
โรคคอตีบ หรือ ดิพทีเรีย เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ และอาจทำให้ถึงตายได้ นอกจากนี้่จากพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลาย
อาการโรคคอตีบ คือจะเริ่มจากมีไข้ต่ำ ๆ คล้ายหวัด มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane)
คอตีบ สามารถติดต่อกันง่ายผ่านการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยระยะใกล้ชิด รวมทั้งการใช้ภาชนะร่วมกัน ส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยโรคคอตีบในชุมชนแออัด หรือในชนบทที่ไม่ได้รับวัคซีน ในประเทศไทยมักพบผู้ติดเชื้อคอตีบเป็นเด็ก อายุ 1-6 ปี
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคคอตีบได้ที่ โรคคอตีบ โรคติดต่อตัวร้าย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
ทริคิโนซิส (Trichinosis)
โรคทริคิโนซิส หรือโรคทริคิเนลโลซิส เป็นโรคพยาธิที่ติดต่อถึงคนโดยการบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ในประเทศไทยพบการระบาดในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก โดยการบริโภคเนื้อสุกร และสัตว์ป่าอื่น ๆ เข้าไป อาการที่สำคัญของผู้ป่วย คือ ปวดกล้ามเนื้อ หนังตาบนบวม ตาแดงอักเสบ มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลียมาก ผู้ป่วยมักป่วยอยู่นานหลายเดือนหรืออาจเป็นรุนแรงจนถึงชีวิตได้ การป้องกันคือ รับประทานอาหารที่ปรุงให้สุกแล้ว
บาดทะยัก (Tetanus)
เป็นโรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Clostidium tetani ซึ่งผลิต exotoxin ที่มีพิษต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ เมื่อเชื้อเข้าไปทางบาดแผล จะทำให้มีการหดเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่เป็น บาดทะยัก กล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้ โรคนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคขากรรไกรแข็ง (lockjaw) จากนั้นผู้ป่วยจะคอแข็ง หลังแข็ง ต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วตัว ทำให้ชักได้
การป้องกันคือ ให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักตั้งแต่เด็ก และเมื่อมีบาดแผลต้องทำแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกด้วยสบู่ล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด พร้อมทั้งให้ยารักษาการติดเชื้อทันที
โปลิโอ (Poliomyelitis)
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบของไขสันหลัง ส่งผลให้เป็นอัมพาตช่วงกล้ามเนื้อแขนและขา ในรายที่อาการรุนแรงจะส่งผลให้พิการตลอดชีวิต และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอแตกต่างกันได้มาก ประมาณร้อยละ 90 จะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ประมาณร้อยละ 4-8 จะมีอาการไม่รุนแรงไม่มีอัมพาต และประมาณร้อยละ 1 จะมีอาการแบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่มีอัมพาต ประมาณร้อยละ 1-2 เท่านั้นที่จะมีอาการอัมพาตเกิดขึ้น
การป้องกันโปลิโอ ง่ายที่สุดคือการให้วัคซีน OPV ตั้งแต่เด็ก รวมทั้งป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโปลิโอ ด้วยการรับประทานอาหารและดื่มน้ำสะอาดถูกสุขลักษณะ รวมทั้งการถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ โปลิโอ โรคอันตรายร้ายถึงพิการ แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คนที่มีความรุนแรงมาก โดยผู้ป่วยที่รับพิษสุนัขบ้า จากทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน ไม่ว่าจะมาจาก สุนัข แมว สุนัขจิ้งจอก สกั้งค์ แรคคูน พังพอน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว คันหรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกสัตว์กัด ต่อมาจะหงุดหงิด ตื่นเต้นไวต่อสิ่งเร้า (แสง เสียง ลมฯ) ม่านตาขยาย น้ำลายไหลมาก กล้ามเนื้อคอกระตุกเกร็งขณะที่ผู้ป่วยพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ ทำให้เกิดอาการ "กลัวน้ำ" เพ้อคลั่ง สลับกับอาการสงบ ชัก ผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการแบบอัมพาต โดยมีอาการแขนขาอ่อนแรง กรณีไม่ได้รับการรักษาประคับประคอง มักป่วยอยู่ประมาณ 2-6 วัน และเสียชีวิตเนื่องจากอัมพาตของกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจ
หากใครถูกสุนัขกัดหรือข่วน ต้องล้างบาดแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดให้ลึกถึงก้นแผล และใส่ยารักษาแผลสดเพื่อกำจัดเชื้อไวรัสที่แผลโดยเร็ว แล้วไปพบแพทย์ พร้อมทั้งติดตามดูอาการสัตว์ที่กัด เพื่อเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าได้ที่ โรคพิษสุนัขบ้า โรคติดต่อร้ายแรงที่อยู่ไม่ไกลตัว
โรคมือ ปาก เท้า (Hand foot mouth disease)
โรคมือ ปาก เท้า เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้ หรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นโรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในหน้าฝน ซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง แต่ติดต่อกันได้ผ่านเข้าสู่ปากโดยตรง ซึ่งมาจากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสติด และไอจามรดกัน
ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน มีเจ็บปากและไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส ซึ่งบริเวณรอบ ๆ จะอักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ จะพบตุ่มหรือผื่น (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน
การรักษาทำได้ตามอาการ เพราะไม่มีวัคซีนป้องกันโดยตรง และควรรักษาความสะอาด ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ โรคมือเท้าปาก อาการที่มักระบาดในหน้าฝน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น